สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งที่ 2

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งที่ 2

วันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 09.47 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปวัดเกษรศีลคุณ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เพื่อทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันให้กับสุนัขและแมวของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี และใกล้เคียง เป็นครั้งที่ 2

ในการนี้ ทรงนำทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขของประชาชน จำนวน 7 ตัว ด้วยทรงห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน และสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ถือเป็นการรณรงค์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า อันเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการแพร่กระจาย และตัดวงจรโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ให้ก่ออันตรายมาสู่คนได้อีกต่อไป

สำหรับการออกหน่วยฯ ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จิตอาสาจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ โดยวันนี้ มีประชาชนนำสุนัขและแมวมารับบริการฉีดวัคซีน จำนวน 125 ตัว และทำหมัน จำนวน 117 ตัว โดยขณะนี้ จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินงานตาม 8 ยุทธศาสตร์ของโครงการฯ สนองพระปณิธานด้วยการจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จังหวัดอุดรธานี พร้อมกับปฏิบัติงานออกให้บริการเคลื่อนที่ ฉีดวัคซีน ทำหมันให้กับสุนัขและแมว เพื่อควบคุมจำนวนประชากรในสัตว์ นอกจากนี้ ปี 2564-2565 ได้มีการเฝ้าระวัง และฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้นำชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งผลจากการดำเนินงานส่วนท้องถิ่นสามารถสร้างพื้นที่ควบคุมระดับ A ให้ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ถึง 180 ท้องถิ่น สอดรับกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2573