การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

การเตรียมตัวก่อนการเดินทางมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ ได้แก่ความเสี่ยงทางด้านโรคติดเชื้อ, ความปลอดภัย, สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งไม่เหมือนกับบ้านเรา หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพของนักท่องเที่ยวเองที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง เป็นต้น

สิ่งที่ควรเตรียมตัวก่อนการเดินทาง

1. ตรวจสุขภาพก่อนการเดินทางหรือตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาภาวะเจ็บป่วยที่ซ่อนอยู่ คงไม่มีใครอยากป่วยในขณะท่องเที่ยว ดังนั้นการประเมินสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวสูงอายุ, มีโรคประจำตัว, เด็กเล็กหรือหญิงตั้งครรภ์เป็นต้น

2. โรคติดเชื้อประจำถิ่น แต่ละพื้นที่ของโลกจะมีโรคประจำถิ่นซึ่งแตกต่างจากบ้านเรา อาทิ ไวรัสไข้เหลือง, มาลาเรียหรือโรคติดเชื้อเฉพาะจากสัตว์หรือแมลงประจำถิ่น หากนักท่องเที่ยวเดินทางไปพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย, ชนบท หรือป่าดิบชื้น แนะนำพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนการเดินทาง

3. วัคซีนสำหรับการเดินทาง โรคประจำถิ่นบางโรคมีวัคซีนโดยเฉพาะและต้องฉีดก่อนการเดินทาง เช่นโรคไข้เหลืองหรือไข้กาฬหลังแอ่น หรือนักท่องเที่ยวสามารถฉีดวัคซีนทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อหรือติดเชื้อรุนแรงระหว่างการเดินทาง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, โควิด-19, ไวรัสตับอักเสบเอหรือบี, อีสุกอีใสหรือหัด, หัดเยอรมันและคางทูม เป็นต้น

4. ยาสำหรับการเดินทาง ได้แก่ยาสำหรับโรคประจำตัวและยาบรรเทาอาการทั่วไป ควรเตรียมให้เพียงพอและควรพกติดตัวขึ้นเครื่องไว้บางส่วน หากไม่มั่นใจว่ายาที่พกติดตัวไปสามารถนำไปต่างประเทศได้หรือไม่ ควรตรวจสอบก่อนการเดินทาง นอกจากนี้หากเดินทางไปพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น นักท่องเที่ยวอาจต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาสำหรับป้องกันมาลาเรีย

5. ประวัติการรักษา สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาโรคประจำตัวต่อเนื่อง ควรขอประวัติการรักษาของตนเองและยาที่รับประทานจากแพทย์ประจำตัว และพกติดตัวตลอดการเดินทาง กรณีเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง สามารถยื่นกับแพทย์ที่รักษาได้ และควรเป็นภาษาอังกฤษ หากเดินทางไปต่างประเทศ 6. ประกันการเดินทาง หากมีภาวะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ สามารถใช้ประกันการเดินทางได้ การเดินทางบางประเภทอาจต้องใช้ประกันการเดินทางแบบเฉพาะเจาะจงเช่น การเดินทางไปพื้นที่สูง อาจต้องมีประกันการเดินทางครอบคลุมการขนส่งคนเจ็บกรณีมีการเจ็บป่วยบริเวณยอดเขา หรืออาจต้องคำนึงถึงประกันที่ครอบคลุมการขนส่งศพกลับประเทศด้วย ทั้งนี้ควรซื้อประกันแบบไหน อาจขึ้นกับกิจกรรมที่ทำด้วยเช่นกัน

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน

          การเดินทางโดยเครื่องบินถือเป็นการเดินทางที่ได้รับความนิยมและรวดเร็ว แต่สภาวะบางอย่างบนเครื่องบินก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่นความกดอากาศที่ลดลง, ออกซิเจนที่น้อยลง, ความชื้นที่ลดลงรวมถึงสถานที่คับแคบและจำกัด เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น

1. เมาเครื่องบิน เกิดขึ้นได้เมื่อสิ่งที่เราเห็นแตกต่างจากการรับรู้ของหูชั้นในที่ทำหน้าที่ปรับสมดุล จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะ เกิดขึ้นได้ทั้งการเดินทางทางรถ, เรือและเครื่องบิน

การป้องกัน

– นั่งบริเวณใกล้หน้าต่างถ้าเป็นไปได้ และมองออกไปพื้นที่โล่งๆของท้องฟ้า

– นอนหลับหรือนอนหลับตา หลีกเลี่ยงการมองออกนอกหน้าต่างในขณะเครื่องขึ้นหรือลง

– ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์, คาเฟอีนหรือเครื่องดื่มมึนเมา

– หากเริ่มเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ หาตัวช่วยที่สามารถลดอาการได้ เช่นลูกอมรสเปรี้ยวหรือลูกอมสมุนไพร

2. เจ็บหู (Barotrauma) เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศที่รวดเร็ว เช่นเวลาเครื่องบินขึ้นหรือลง ภาวะนี้ส่งผลต่อหูชั้นกลางและมักเกิดขึ้นเมื่อมีการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกหรือช่องหู อาการมักจะไม่รุนแรงหรืออันตราย ส่วนน้อยจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ, หูดับและแก้วหูแตกทะลุ

การป้องกัน

– หากมีภาวะโพรงจมูกติดเชื้อหรือไซนัสอักเสบรุนแรง หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน ถ้าเป็นไปได้

– หากมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลหรือหูอื้อ อาจใช้ยาแก้แพ้ ยาลดอาการบวมหรือยาพ่นจมูกลดบวมก่อนเดินทางได้

– นักท่องเที่ยวที่มีภูมิแพ้ ควรรับประทานยาแก้แพ้อย่างต่อเนื่อง

3. ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มักเกิดจากการนั่งเครื่องนานๆ ส่วนใหญ่มากกว่า 4-6 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาและลิ่มเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดที่ปอด ก่อให้เกิดอาการเหนื่อยเฉียบพลันและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันคือ อายุเยอะ, ภาวะอ้วน, มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน, ตั้งครรภ์, โรคมะเร็ง, ใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศหญิง, นอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานหรือผ่านการผ่าตัดเมื่อไม่นานมานี้เป็นต้น

การป้องกัน

– ขยับขา ข้อเท้าหรือลุกเดินบ่อยๆ นักท่องเที่ยวที่มีปัจจัยเสี่ยงแนะนำนั่งบริเวณทางเดินและลุกเดินบ่อยๆทุก 2-3 ชั่วโมง และยืดเหยียดกล้ามเนื้อขา ข้อเท้า นิ้วเท้าสม่ำเสมอ

– ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

– หากมีประวัติโรคเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดต้น แนะนำพบแพทย์เกี่ยวกับการใส่ถุงน่องรัดขาหรือใช้ยาละลายลิ่มเลือดก่อนการเดินทาง

– หากมีอาการสงสัยลิ่มเลือดอุดตันที่ขาหรือในปอด ดังต่อไปนี้ ขาบวมปวดเฉียบพลัน, ผิวหนังบริเวณขาม่วงแดง, หายใจลำบาก, เหนื่อยหอบ, เจ็บหน้าอกหรือวูบหน้ามืด ควรแจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอย่างเร่งด่วน

4. ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวแห้งขาดน้ำหรือรังสียูวีบนเครื่อง

การป้องกัน

– ดื่มน้ำให้เพียงพอหรือทาครีมบำรุงผิว เนื่องจากความชื้นในห้องโดยสารค่อนข้างน้อย

– ทาครีมกันแดด SPF 25-50 เนื่องจากปริมาณรังสียูวีเข้มข้นกว่าบริเวณภาคพื้นดิน ถึงแม้กระจกหน้าต่างสามารถป้องกันรังสียูวีได้บางส่วน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงรับรังสียูวีมากกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงที่มีแดดจ้า 

หากนักท่องเที่ยวมีปัญหาสุขภาพนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นเช่น อาการไข้ ไอติดกันอย่างต่อเนื่อง ผื่นตามตัวหรือท้องเสียเฉียบพลัน เป็นต้น ควรแจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น เพราะเป็นอาการที่สงสัยภาวะติดเชื้อและต้องมีการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเร่งด่วน

ตรวจสุขภาพ เวชศาสตร์การเดินทางและวัคซีนในผู้ใหญ่

ชั้น 3 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง