28 มกราคม 2563 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเปิดการแสดงนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุด​ “หลากลาย​ หลายชีวิต 2”

วันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังหอศิลป์พิมานทิพย์ ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดการแสดงนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์​ ชุด​ “หลากลาย​ หลายชีวิต​ 2” ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการทำวิทยานิพนธ์​ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งนี้​ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต​ สาขาวิชาทัศนศิลป์​ คณะจิตรกรรม​ ประติมากรรม​ และภาพพิมพ์​ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างศึกษาทรงปฏิบัติตามที่หลักสูตรกำหนด​ ทรงศึกษาในรายวิชาต่างๆ ทรงเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ทรงจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชนครั้งที่2โดยนิทรรศการ​ ชุด ” หลากลาย หลายชีวิต 2 ” ทรงใช้ “เสือ” เป็นสัญลักษณ์ แทนความหมายของเจ้าป่า​ หรือพระราชา​ ซึ่งเปรียบเสมือนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถที่ทรงปกครองเหนือราชอาณาจักรของพระองค์​ เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา​ ห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์​ตลอดเวลา​ ลวดลายของเสือยังปรากฎเป็นตัวอักษรสัญลักษณ์ DNA หรือชื่อย่อทางสารพันธุกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ทางด้านวิทยาศาสตร์ อันเป็นพระประสบการณ์ในด้านวิทยาศาสตร์ ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มาผสมผสานกับจินตนาการจากจิตใต้สำนึก ตามบริบทแวดล้อม เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกผ่านรูปทรงและความหมายของพื้นที่ต่างๆ ที่ทรงคุ้นเคย ผ่านลายเส้นที่ทรงวาดลงบนผืนกระดาษที่แสดงถึงความแม่นยำ เด็ดเดี่ยว เคลื่อนไหว มีชีวิต​ มีลมหายใจ มีจิตวิญญาณ เพื่อส่งต่อความฝัน ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อตนเอง ครอบครัว ราษฎรชาวไทยไปจนกระทั่งผู้คนในโลกนี้ได้อย่างเต็มที่

สำหรับ​รูปแบบงานศิลปะ​ เป็นกึ่งแฟนตาซี ผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ไม่ใช้หลักทฤษฎีทางวิชาการของศิลปะใดๆ แต่ขยายขอบเขตของการสร้างสรรค์ออกไปตามสัญชาตญาณ และความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนแบบศิลปะนาอีฟ หรือนาอีฟ อาร์ต โดยทรงทำการศึกษาผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้คือ อ็องรี รูโซ จิตรกรชาวฝรั่งเศส และยะโยชิคุสะมะ จิตรกรหญิงชาวญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ของผลงานตามเนื้อหาสาระ ได้แก่กลุ่มที่ 1 อัตลักษณ์ของเสือ, กลุ่มที่ 2 เสือกับธรรมชาติการจัดวาง, กลุ่มที่ 3 เสือกับลายเส้นและภาพขาวดำ, กลุ่มที่ 4 เสือสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์, กลุ่มที่ 5 เสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, กลุ่มที่ 6เสือ ดอกไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ, กลุ่มที่ 7 นกฮูกกับสัตว์มีปีก, กลุ่มที่ 8 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในเทคนิคภาพพิมพ์​ และ กลุ่มที่ 9 ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ในกระบวนการอื่นๆ​ รวมถึงนิทรรศการเครื่องดนตรี​ “กู่เจิง” และนิทรรศการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม​ ชุด​ “สายสัมพันธ์​ สองแผ่นดิน” ครั้งที่​ 1-6 ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี​ ที่จัดแสดงเรื่องราวของพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี​ เครื่องดนตรีแห่งราชสำนักจีน​ และห้องจัดแสดง​ “เลโก้” ที่ทรงใช้เวลาว่างจากพระกรณียกิจให้เป็นประโยชน์​ เป็นการทรงฝึกสมาธิต่อตัวเลโก้ทุกชิ้นด้วยพระองค์เอง​ เป็นรูปและสถานที่สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ อาทิ​ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม​, หอไอเฟล, มิกกี้เม้าส์​ เป็นต้น​

ทั้งนี้ นิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2” เปิดเป็นนิทรรศการถาวรให้ประชาชนทั่วได้ไปเข้าชม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยมีค่าบัตรเข้าชม 150 บาท ในวันและเวลาราชการ รายได้นำสมทบทุนมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่งในพระอุปถัมภ์ฯ