21 ตุลาคม 2562 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2562 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก โดยมีศาสตราจารย์ ดร.โยเซฟ พุกตา ผู้อำนวยการด้านบริหารศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นที่เสด็จเยือนศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในอีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ dkfz มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์มายาวนานกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เคยเสด็จมาเยือนหลายครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้ขยายความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรังสีรักษา ฟิสิกส์การแพทย์ และชีวสารสนเทศ ด้วยศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นองค์กรวิจัยโรคมะเร็งที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีบุคลากรกว่า 3,000 คน มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ 1,300 คน นักศึกษาปริญญาเอกจากทั้งในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนานาชาติกว่า 400 คน มีผลงานวิจัยระดับโลกจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2 คน โอกาสนี้ นักชีวสารสนเทศด้านโรคมะเร็งได้บรรยายเรื่องการใช้ข้อมูลระดับยีนส์และโมเลกุล ในการประเมินและตัดสินการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบแม่นยำ โดยนักชีวสารสนเทศจะมีส่วนร่วมในการเตรียมข้อมูลที่ได้จากการวิเคราห์เซลล์มะเร็งด้วยเทคนิค Next – Generation Sequencing เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดแผนการรักษาซึ่งประกอบด้วยคณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขา นักวิทยาศาสตร์ และนักชีวสารสนเทศที่ร่วมกันพิจารณาตัดสินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีโอกาสรอดชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกันนี้ ทรงรับฟังบรรยายเรื่องการใช้เทคนิคใหม่ในการตรวจหา DNA ของเซลล์มะเร็งในเลือดที่เรียกว่า cfDNA ในการตรวจหามะเร็งในเลือดผู้ป่วย โดยนายปิติทัศน์ ปูรณโชติ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ทั้งนี้ ในปัจจุบันการวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ทำให้การรักษามะเร็งมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เนื่องจากการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมะเร็งตลอดระยะเวลาการรักษานั้นมักทำได้ยาก ต้องอาศัยการผ่าตัดเก็บชิ้นเนื้อหรือในบางครั้งได้ชิ้นเนื้อจำนวนน้อยไม่พอเพียง จึงได้มีการพัฒนาการเก็บตัวอย่าง DNA จากเลือดของผู้ป่วยซึ่งเรียกว่า cfDNA ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้การตรวจหามะเร็งได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถติดตามผลการรักษาของมะเร็งได้ตลอด ทำให้แพทย์สามารถออกแบบการรักษามะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงให้ความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการประยุกต์ใช้ส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชนชาวไทย ให้ปลอดภัยจากโรคร้ายโดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อไป

รับชมวิดีทัศน์ได้ทาง https://www.facebook.com/CRAPCCMS/videos/1001573670187879/