ภาวะถอนพิษสุรา

การลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรค่อยเป็นค่อยไป สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ เมื่อหยุดดื่มแอลกอฮอล์หรือลดปริมาณการดื่มลงอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยมักแสดงอาการวิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หากมีอาการรุนแรงอย่างชัก หรือประสาทหลอน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงต่อ “ภาวะถอนพิษสุรา” มากกว่าคนทั่วไป

  • ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • มีประวัติเป็นภาวะถอนพิษสุรามาก่อน
  • มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง

อาการลงแดง ภาวะถอนพิษสุรา มักเกิดขึ้นหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง หรืออาจนาน 2-3 วัน โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการต่อไปนี้

  • หงุดหงิด , วิตกกังวล, ซึมเศร้า
  • ตัวสั่น รวมทั้งมือ และหัวใจ
  • โมโหง่าย, อารมณ์แปรปรวน
  • อ่อนเพลีย, มือสั่น
  • คิดอะไรไม่ออก
  • ปวดศีรษะ, มึนงง
  • มีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะใบหน้าและฝ่ามือ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ
  • ซีด
  • เพ้อ เห็นภาพหลอน
  • ไวต่อแสง เสียง
  • ชักกระตุก
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ความดันโลหิตสูง
       นอกจากอาการผิดปกติข้างต้น ผู้ป่วยอาจประสบกับอาการรุนแรงที่เรียกว่ากลุ่มอาการกระสับกระส่าย สับสน อย่างรุนแรงหรือมีอาการสั่น ประสาทหลอนเนื่องจากถอนพิษสุรา ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ 48-72 ชั่วโมง 

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

  • มีอาการสับสน หรือกระวนกระวายอย่างมาก
  • มีไข้
  • ชัก
  • ประสาทหลอน ทั้งด้านการสัมผัส การมองเห็น และการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียง หรือมองเห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง เป็นต้น

การรักษาผู้ที่อยู่กลุ่มอาการขาดแอลกอฮอล์

ผู้ที่อาการไม่รุนแรง

  • ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงสลับกับการดื่มน้ำ
  • ทำกิจกรรมอื่น ๆ ยามว่าง เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนหรือบุคคลที่เคยดื่มด้วยกัน

การใช้ยา

  • หากมีการขาดสารอาหารร่วมด้วยจะได้รับ Thiamine และ Folic Acid ร่วมกับวิตามินรวม และสารอาหารอื่น ๆ
  • รับประทานเกลือแร่เพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะถอนพิษสุรา โดยปกติผู้ป่วยที่มีภาวะ Alcohol Withdrawal (ภาวะถอนพิษสุรา) มักประสบกับภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
  • ภาวะติดเชื้อ
  • โรคตับอ่อนอักเสบ
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ป่วยที่เผชิญอาการดังข้างต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะถอนแอลกอฮอล์ชนิดรุนแรง หรือเกิดอาการกระสับกระส่าย สับสน อย่างรุนแรงหรือมีอาการสั่น ประสาทหลอนเนื่องจากถอนพิษสุรา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันภาวะถอนพิษสุรา

การป้องกันภาวะถอนพิษสุรา ทำได้ไม่ยาก เพียงควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องไม่ดื่มในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยทั่วไปคนในวัยผู้ใหญ่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมักมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ประมาณ 10 กรัม เฉลี่ยแล้วอาจเท่ากับเบียร์ประมาณ 360 มิลลิลิตร ไวน์ประมาณ 150 มิลลิลิตร และสุราประมาณ 45 มิลลิลิตร
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี และลดโอกาสในการเกิดภาวะถอนพิษสุราตามมา

การลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรค่อยเป็นค่อยไป สำหรับผู้ที่ดื่มมาเป็นเวลานานและมีอาการผิดปกติ สามารถปรึกษาขอความคิดเห็นจากสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์โทรศัพท์ 1323 ทั้งนี้ผู้ที่คิดจะลองโดยเฉพาะเยาวชน อายุยังไม่ถึง 20 ปี ระวังโทษตามกฎหมาย และความเสี่ยงของโรคในอนาคต รวมทั้งอุบัติเหตุหรือการก่ออาชญากรรมต่าง ๆ

งานบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์