7 วิธีดูแลสุขภาพจิต สร้างอารมณ์ดี ชีวิตมีความสุข

10 ตุลาคมวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตที่ควรได้รับการดูแล
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขอเชิญชวนทุกคนร่วมดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิดให้เข็มแข็งและสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง

1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว 
หมั่นใช้เวลาในการกระชับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน

2. ดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง
ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน โยคะ เต้น ขี่จักรยาน หรือแม้แต่การทำสวน จะช่วยเสริมอารมณ์และปรับสุขภาพให้ดีขึ้นได้ รวมถึงรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อีกทั้งนอนหลับอย่างเพียงพอด้วย

3. เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา 
ทักษะความสามารถหรือความรู้ใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้น ๆ และเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยอาจเริ่มจากการทำงานอดิเรกหรือศาสตร์ที่ตนสนใจ เช่น ทำอาหาร เล่นดนตรี เย็บปักถักร้อย เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ช่วยให้เข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีหลักสูตรอบรมออนไลน์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้เลือกมากมาย

4. หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย
อย่าใช้สารที่เป็นอัตราย เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อรับมือกับความรู้สึก แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่มันก็สามารถทำให้รู้สึกแย่ลงในระยะยาว อีกทั้งสารเหล่านี้ยังเป็นอันตรายที่ทำให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายหรือบาดเจ็บได้

5. กำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญ
ตั้งเป้าหมายในชีวิต การใช้ชีวิตอย่างไร้แผนการและไร้จุดมุ่งหมายอาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลต่อชีวิตในอนาคต จึงควรตั้งเป้าหมายในระยะยาว เพื่อช่วยให้ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบันนั้นมีความหมาย และมีกำลังใจที่จะทำต่อไปเพื่อบรรลุในสิ่งที่มุ่งหวัง ซึ่งอาจเขียนเป้าหมายต่าง ๆ ลงบนกระดาษ เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา อาชีพ หรือบุคลิกภาพ เป็นต้น และจัดสรรเวลาเพื่อฝึกฝนหรือทำตามเป้าหมายในแต่ละวันอย่างพอดี เพื่อไม่ให้กดดันตัวเองมากเกินไป

6. เน้นคิดในเชิงบวกและฝึกขอบคุณตัวเอง
พยายามคิดในแง่บวก ยิ้มและบอกขอบคุณตัวเองทุกวัน ปฏิบัติกับตัวเองอย่างเคารพและเมตตา เห็นคุณค่าในตัวเอง หลีกเลี่ยงการวิจารณ์หรือด้อยค่าตัวเอง  

7. ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อจำเป็น 
หากมีปัญหาควรบอกเล่าให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวฟัง เพื่อระบายความรู้สึก เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และเพื่อให้สามารถหาทางแก้ไขไปด้วยกัน โดยไม่ควรแบกรับปัญหาไว้คนเดียว แต่หากไม่อยากเล่าให้คนรอบข้างฟัง อาจเลือกปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญผ่านการโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิต 1323