ธาตุเจ้าเรือนกับการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

ศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้กล่าวถึงร่างกายมนุษย์ จะประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแต่ละคนจะมีธาตุประจำตัวของคนเราที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม และมูลเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมของบุคคลนั้น หากธาตุเหล่านี้สมดุลกันร่างกายคนเราก็จะแข็งแรง หากธาตุทั้ง 4 ในร่างกายเสียสมดุล จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา

ธาตุเจ้าเรือน

สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. ธาตุเจ้าเรือนที่เป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด
  2. ธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากธาตุเจ้าเรือนเดิมที่ติดตัวมา ตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยในการใช้ชีวิตต่าง ๆ ทั้งอายุ ที่อยู่ ฤดูกาลที่กระทบทำให้เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถพิจารณาธาตุเจ้าเรือนปัจจุบันจากบุคลิก ลักษณะอุปนิสัย

ธาตุเจ้าเรือนทางการแพทย์แผนไทย แบ่งเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ โดยมีลักษณะทั่วไปและสภาวะสุขภาพที่แตกต่างกัน  ซึ่งหากปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นเลือกรับประทานอาหารถูกรสกับธาตุตามแต่ละธาตุเจ้าเรือน จะช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกาย และทำให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น ดังต่อไปนี้

ธาตุดิน (เกิดเดือนตุลาคม – ธันวาคม)

ลักษณะทั่วไปของผู้ที่อยู่ในธาตุดิน :
รูปร่างสูงใหญ่ กล้ามเนื้อข้อต่อแข็งแรง กระดูกใหญ่ ผมดกดำ เสียงดังฟังชัด

สภาวะสุขภาพ :
คนธาตุดินมักเจ็บป่วยด้วยโรคของอวัยวะโครงสร้างหลักของร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ริดสีดวงทวาร เป็นต้น

การรับประทานอาหารที่เหมาะสม :
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเมนูอาหารที่มีรสฝาด หวาน มัน เค็ม พอประมาณ

ตัวอย่างผักผลไม้ :
ผักกูด มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก มันเทศ ถั่วต่างๆ งา เงาะ กล้วยดิบ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะยม สมอไทย สะตอ ผักโขม โสน ดอกขจร ยอดฟักทอง น้ำนม อ้อย เกลือ เป็นต้น

ตัวอย่างเมนูอาหาร :
แกงป่า สะตอผัดกุ้ง ดอกงิ้วทอดไข่ ผักกูดผัดน้ำมันงา ฟักทองผัดไข่ ข้าวอบธัญพืช

ตัวอย่างเมนูอาหารว่าง :
วุ้นกะทิ กล้วยบวชชี แกงบวดฟักทอง ตะโก้

ตัวอย่างเครื่องดื่ม :
น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำมะตูม น้ำฝรั่ง น้ำลูกเดือย น้ำข้าวโพด น้ำฟักทอง น้ำเต้าหู้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง :
อาหารที่ย่อยได้ยาก และดูดซึมยาก เช่น ของทอด

ธาตุน้ำ (เกิดเดือนกรกฎาคม – กันยายน)

ลักษณะทั่วไปของผู้ที่อยู่ในธาตุน้ำ :
รูปร่างสมบูรณ์ อวบ ผิวขาว ตาโต พูดช้า เสียงไพเราะ เคลื่อนไหวช้า ผมละเอียดสวย ผมดกดำ ชอบนอน ใจเย็น

สภาวะสุขภาพ :
คนธาตุน้ำมักเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก เสมหะ ภูมิแพ้ ระบบทางเดินอาหาร น้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ น้ำดี และระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น

การรับประทานอาหารที่เหมาะสม :
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเมนูอาหารที่มีรสเปรี้ยว และรสขม พอประมาณ

ตัวอย่างผักผลไม้ :
มะนาว ส้ม มะขามป้อม มะยม ดอกแค มะเขือเทศ มะกรูด ใบมะขามอ่อน มะระ

ตัวอย่างเมนูอาหาร :
แกงส้มดอกแค ห่อหมกใบยอ ยำผลไม้ แกงจืดมะระ มะระผัดไข่ น้ำพริกมะระขี้นก แกงขี้เหล็ก

ตัวอย่างเมนูอาหารว่าง :
มะยมเชื่อม สับปะรดกวน กระท้อนลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน

ตัวอย่างเครื่องดื่ม :
น้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำมะขามป้อม น้ำมะเขือเทศ น้ำสับปะรด น้ำกระเจี๊ยบ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง :
อาหารที่ทำจากนมเนย และอาหารรสเค็มหรือมีปริมาณโซเดียมสูงอย่างอาหารกระป๋อง หรือไส้กรอก

ธาตุลม (เกิดเดือนเมษายน-มิถุนายน)

ลักษณะทั่วไปของผู้ที่อยู่ในธาตุลม :
รูปร่างโปร่ง ผอม ผมบาง ผิวหนังแห้งง่าย ข้อกระดูกลั่นเมื่อเคลื่อนไหว นอนไม่ค่อยหลับ เป็นคนช่างพูด ทนหนาวไม่ค่อยได้

สภาวะสุขภาพ :
คนธาตุลมมักเจ็บป่วยด้วยอาการของระบบประสาท การไหลเวียนของโลหิต เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยได้ง่าย

การรับประทานอาหารที่เหมาะสม :
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเมนูอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน พอประมาณ

ตัวอย่างผักผลไม้ :
ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย โหระพา ยี่หร่า กระเทียม กระเพรา

ตัวอย่างเมนูอาหาร :
ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง กะเพราไก่ หมูผัดพริกขิง ผัดขี้เมาทะเล

ตัวอย่างเมนูอาหารว่าง :
มันต้มขิง บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวยน้ำขิง

ตัวอย่างเครื่องดื่ม :
น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกะเพรา

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง :
อาหารที่มีความหวานหรือมันมาก

ธาตุไฟ (เกิดเดือนมกราคม – มีนาคม)

ลักษณะทั่วไปของผู้ที่อยู่ในธาตุไฟ :
มักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน ผิวหนังย่น ผม ขน และหนวดค่อนข้างนิ่ม ไม่ค่อยอดทน ใจร้อน ข้อกระดูกหลวม

สภาวะสุขภาพ :
คนธาตุไฟมักเจ็บป่วยด้วยอาการไข้ ตัวร้อน เป็นแผลร้อนใน เป็นสิว ท้องผูก

การรับประทานอาหารที่เหมาะสม :
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเมนูอาหารอาหารรสขม เย็น จืด โดยเฉพาะเมนูที่มีสมุนไพรรสเย็นจะช่วยลดความร้อนในร่างกาย

ตัวอย่างผักผลไม้ :
แตงโม แตงกวา ขี้เหล็ก มะระ หัวไชเท้า มะเขือม่วง กะหล่ำปลี ตำลึง

ตัวอย่างเมนูอาหาร :
ผัดผักบุ้ง แกงจืดตำลึง แตงกวาผัดไข่ บวบผัดไข่ แกงขี้เหล็ก ข้าวแช่

ตัวอย่างเมนูอาหารว่าง :
ซาหริ่ม ไอศกรีม น้ำแข็งใส ลอดช่องแตงไทย

ตัวอย่างเครื่องดื่ม :
น้ำแตงโม น้ำเก๊กฮวย น้ำรากบัว น้ำใบบัวบก น้ำย่านาง

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง :
ไม่ควรกินอาหารรสหวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ

จะเห็นได้ว่า การรับประทานอาหารให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือนของตนเองที่กล่าวมา โดยใช้รสและสรรพคุณของอาหารเป็นยา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและปรับสมดุลธาตุของร่างกาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยซึ่งเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย และสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน