จริงหรือไม่ “เบาหวาน” ขึ้นตาแล้วจะตาบอด

เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ดังนั้นโรคหรือความเสื่อมต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะสูงอายุจึงพบได้มากขึ้นและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมถึงบุคคลรอบข้าง หนึ่งในโรคที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน จากการสำรวจขององค์การ International Diabetes Federation หรือ IDF พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกถึง 463 ล้านคน เเละมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในอีก 26 ปีข้างหน้า จะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานทั่วโลกประมาณ 700 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยเองเบาหวานถือเป็นโรคยอดนิยมอันดับต้น ๆ เช่นกัน

เบาหวานมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดหลัก ๆ คือ

ชนิดที่ 1 คือ ชนิดที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน โดยมักพบในคนอายุน้อย ๆ (ส่วนใหญ่น้อย กว่า 30 ปี) มักมีอาการเเสดงให้เห็นตั้งเเต่เริ่มเป็น ได้เเก่ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

ชนิดที่ 2 คือ ชนิดที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งพบในผู้สูงอายุ ตั้งเเต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนมากมักจะไม่มีอาการ จนกระทั่งโรคนั้นดำเนินไปมากเเล้ว

ชนิดที่ 3 คือ ชนิดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนเเปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมาก โดยฮอร์โมนจากรกซึ่งจะมีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของอินซุลิน ทั้งนี้ภาวะเบาหวานที่เกิดขึ้นมักจะหายไปหลังจากคลอดบุตร

จากที่กล่าวมาจะพบว่าเบาหวานนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย เเละที่สำคัญคือเบาหวานหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ได้เเก่ ตา ไต หัวใจ ระบบประสาทไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกัน

“ตา” ถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตประจำวัน เเละยังมีผลต่อพัฒนาการของคนเรามาตั้งเเต่เด็ก ๆ เเต่เมื่อ พบว่าป่วยเป็นเบาหวานเเล้ว อวัยวะหนึ่งที่มักโดนผลกระทบก็คือ “ตา” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เบาหวานขึ้นตา” นั่นเอง โดยพบว่า หากเป็นเบาหวานเเละไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลา 20 ปี จะมีภาวะเบาหวานขึ้นตาถึง 99% ในเบาหวานชนิดที่ 1 เเละ 60% ในเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้เเก่ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ การควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆไม่ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคโลหิตจาง เป็นต้น อาการของโรคเบาหวานขึ้นตาพบได้ทุกรูปเเบบ ได้เเก่ ไม่มีอาการหรือการมองเห็นปกติ ตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว มีม่านดำบดบังการมองเห็น ปวดตา เลือดออกในตา ไปจนถึงตาบอดในที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนเเรงเเละบริเวณของรอยโรคว่าอยู่ที่ตำเเหน่งใด

จากสถิติพบว่าเบาหวานนั้นทำให้คนตาบอดมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มากขึ้น ดังนั้นภาวะเบาหวานขึ้นตาบางอย่างสามารถรักษาได้ ซึ่งมีหลายรูปเเบบ ทั้งการยิง เลเซอร์บริเวณขอบจอประสาทตา เลเซอร์บริเวณเส้นเลือดผิดปกติเพื่อลดการรั่วของสารน้ำ ซึ่งทำให้เกิดจุดรับภาพชัดจอตา บวม ฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อลดเส้นเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ลดการบวมของจุดรับภาพชัดจอตา ลดเลือดออกในวุ้นตา เเละหากโรคเป็นรุนเเรงถึงขั้นมีพังผืดดึงรั้งจนจอประสาทตาหลุดลอก ก็มีความจำเป็นต้องผ่าตัดวุ้นตาเเละจอประสาทตา เเต่ไม่ว่าจะมีวิธีการรักษาที่ก้าวหน้าเพียงใด หากปล่อยให้ภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นรุนเเรงเเล้ว บางครั้งเเม้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามมาตรฐานเเล้ว ก็ไม่อาจทำให้การมองเห็นกลับคืนมาดังเดิมได้ ดังนั้นสิ่งทำสำคัญที่สุดสำหรับภาวะเบาหวานขึ้นตา “ไม่ใช่การรักษา หากเเต่เป็นการป้องกัน” ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยน้ำตาล สะสม (HbA1C) ไม่ควรเกิน 7 เเละน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารไม่ควรเกิน 128 mg/dl เเละหมั่นติดตามการรักษากับเเพทย์อยู่เสมอ ที่สำคัญ “ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด”
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา 3 ตรวจตากับจักษุเเพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นตา หรือหากพบว่าเป็นเบาหวานขึ้นตาจะได้ทำการรักษาตั้งเเต่ขณะที่โรคยังไม่ได้ดำเนินไปมาก จะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เเละลดโอกาสที่จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

จอประสาทตาปกติ จะเห็นว่ามีขั้ว ประสาทตาลักษณะกลม ๆ เเละมี เส้นเลือดออกมาจากบริเวณนั้น เพื่อมาเลี้ยงจอประสาทตา สำหรับจุดสีเข้ม ๆ ตรงกลาง คือ บริเวณของจุดรับภาพชัดจอตา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการมองเห็นภาพชัด หากบริเวณนี้มีความผิดปกติจะทำให้การมองเห็นลดลงอย่างมากได้

รูปนี้เเสดงถึงเบาหวานขึ้นตาชนิดรุนเเรง ดังจะเห็นได้ว่าเริ่มมีจุดเลือดออก มีการรั่วของไขมัน (จุดสี เหลือง) เเละมีเส้นเลือดผิดปกติ (ลูก ศร) เเต่ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณจุดรับภาพชัดไม่ได้รับผลกระทบ จึงทำให้การมองเห็นยังปกติอยู่ได้

“การเป็นเบาหวานแล้วต้องตาบอด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน ขึ้นอยู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลและผลจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย”


บทความโดย นพ.ธัชปชา กะสีวัฒน์
จักษุแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์