หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอันตรายเกินคาดเสี่ยงสมองขาดเลือด

หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอันตรายเกินคาดเสี่ยงสมองขาดเลือด
มากกว่า 70% ที่ไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษา

โรคที่เกิดจากหัวใจห้องบนซ้ายเต้นผิดจังหวะเรียกว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นระริก บางคนอาจเรียกว่าหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งทางการแพทย์เรียกสั้น ๆ ว่า AF โดยเป็นหนึ่งในโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่มีความน่ากลัว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เป็นสาเหตุที่สำคัญของลิ่มเลือดอุดตันในสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะสมองขาดเลือด เพราะภาวะหัวใจห้องบนสั่นระริก จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจะถูกส่งมาที่หัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น ถ้าลิ่มเลือดนี้ออกไปอุดในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอุดในสมองก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ และการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว Atrial Fibrillation (AF)

  1. อาการใจสั่นรัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่เพียงพอ
  2. ป่วยโรคเรื้อรัง : หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดัน นอนกรน ไตเรื้อรัง
  3. พฤติกรรมเสี่ยง : ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวมาก

“AF เป็นภาวะที่ไม่มีอาการทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จะมีส่วนน้อยมากที่รู้ตัวเพราะมีอาการชัดเจน เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่เพียงพอ ส่วนคนที่ไม่รู้และไม่ได้คัดกรองก็จะไม่รู้ตัว อาจไปรู้ตัวอีกทีตอนที่มีภาวะของโรครุนแรงแล้ว เช่นการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น ทั้งนี้ การจะรู้ว่าเป็น AF หรือไม่นั้น สามารถตรวจได้ด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG โดยแนะนำในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อีกวิธีคือการดูข้อมูลการเต้นของหัวใจในสมาร์ทวอช (Smart watch) หากมีการแจ้งเตือนว่ามีภาวะ AF ก็ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือนี้ก็มีความน่าเชื่อถือถึง 80% และหมั่นวัดความดันด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งมีคุณสมบัติวัดอัตราการเต้นหัวใจด้วย


สำหรับภาวะ AF มีหลายชนิด ทั้งชนิดชั่วคราว ชนิดเป็นนาน และชนิดถาวร ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัวหรือที่รู้จักกันว่า ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งการให้ยาจะช่วยลดโอกาสเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิต ส่วนใหญ่การทานยาต้องทานไปตลอดชีวิตจะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่หยุดยาได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มที่เป็นถาวร และอีกวิธีที่แพทย์จะพิจารณาใช้รักษาในผู้ที่มีภาวะ AF ชนิดชั่วคราวและชนิดเป็นนาน คือ การจี้ไฟฟ้าด้วยคลื่นวิทยุที่ทำให้เกิดความร้อน เพื่อลดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย แต่การจี้ด้วยความร้อนก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เล็กน้อย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาใช้การจี้ด้วยความเย็น ซึ่งการใช้เทคนิคการจี้ด้วยความร้อนหรือเย็นนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย


ข้อมูลโดย ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์