วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ

วัคซีนมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างไร

วัคซีนในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด วัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพลดลง ผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อและจะมีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ดังนั้นวัคซีนจึงมีบทบาทในการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงในการเกิดโรค ลดการนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู หรือลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ เป็นต้น

วัคซีนใดบ้างที่แนะนำสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

อุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มสูงมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและความรุนแรงในการเป็นโรคจะสูงมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุได้แก่

  1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
  2. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
  3. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
  4. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน
  5. วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ก่อนการฉีดวัคซีนต้องเตรียมตัวอย่างไร

หากท่านมีไข้ หรือเจ็บป่วยไม่สบาย แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน รอให้หายดีหรือสุขภาพร่างกายแข็งแรงก่อน จึงจะสามารถฉีดวัคซีนได้ ท่านควรนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ ในวันฉีดวัคซีน สามารถรับประทานอาหารและยาโรคประจำตัวได้ตามปกติ

หลังจากฉีดวัคซีนจะต้องสังเกตอาการตัวเองอย่างไรบ้าง            

โดยปกติหลังจากการฉีดวัคซีน ท่านอาจมีอาการไข้ ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามตัวได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจมีภาวะบวม แดง ปวดบริเวณที่ฉีดได้ ท่านสามารถเช็ดตัวลดไข้ กินยาพาราเซตามอลแก้ปวด ประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนักและหายได้เอง แต่หากมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก วูบหน้ามืดหรือเป็นลม ให้สงสัยว่าอาจมีภาวะแพ้รุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

ไวรัสไข้หวัดใหญ่

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ก่อให้เกิดอาการไข้สูง น้ำมูก ไอ ปวดเมื่อยตามตัวหรืออาการหอบเหนื่อย อาการหนักหรือเบาขึ้นกับสภาพร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการหนักหรือปอดอักเสบได้แก่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน, คนท้อง หรือภาวะอ้วน เป็นต้น

โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะระบาดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว

วัคซีนไข้หวัดใหญ่คืออะไร และทำไมต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 4 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 1-2 สายพันธุ์ ขึ้นกับชนิดของวัคซีน โดยสายพันธุ์ที่จะนำมาผลิตวัคซีนจะเปลี่ยนไปทุกๆ 6 เดือน ขึ้นกับข้อมูลการระบาดในปีนั้นๆ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราถึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใหม่ทุกปี

จากข้อมูลในงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  1. ช่วยลดความรุนแรงของโรค
  2. ลดโอกาสการนอนโรงพยาบาล หรือลดระยะเวลาการป่วย
  3. ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเริ่มฉีดเมื่อใด

โดยทั่วไปสามารถฉีดได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้สูงอายุ แต่จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนท้อง ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วัคซีนหากแพ้ไข่สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ และฉีดพร้อมวัคซีนอื่นได้หรือไม่

• ภาวะแพ้ไข่ เช่น มีผื่นตามตัว ปากบวม ตาบวม สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
ถ้ามีภาวะแพ้ไข่แบบรุนแรง (Anaphylaxis) สามารถฉีดได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การสังเกตอาการแพ้จากบุคลากรทางการแพทย์

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเป็นชนิดเชื้อตาย สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนอื่นได้ในวันเดียว แม้กระทั่ง วัคซีนโควิด-19 หลังฉีดผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อย ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดประมาณ 1-2 วันและหายเองได้

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส

วัคซีนโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัสคืออะไร

เชื้อนิวโมคอคคัส คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณโพรงจมูกและลำคอ ก่อให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบได้บ่อย นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสยังสามารถติดเชื้อร่วมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 เพิ่มโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต หลายคนอาจเรียกวัคซีนนี้ว่า “วัคซีนปอดอักเสบ” มี 2 ชนิดคือ ชนิด 13 สายพันธุ์ และ 23 สายพันธุ์

วัคซีนโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัสมีความสำคัญอย่างไร

ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ที่ก่อให้เกิดปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อนี้มากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวีหรือเอดส์ เป็นต้น ยิ่งมีโรคประจำตัวเยอะ ยิ่งเสี่ยงติดโรคนี้ได้มาก การรับวัคซีนชนิดนี้ จะลดโอกาสป่วยหนักหรือนอนโรงพยาบาล ลดโอกาสการติดเชื้อในกระแสเลือดและโอกาสการเสียชีวิต

ฉีดวัคซีนกี่เข็ม ต้องฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่

โดยทั่วไปในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำฉีดวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์และตามด้วย 23 สายพันธุ์ ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จะมีแนวทางการฉีดวัคซีน และเข็มกระตุ้นที่แตกต่างกัน ขึ้นกับโรคประจำตัวแต่ละคน

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัดคืออะไร

เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใส และมีอาการปวดแสบร้อน บางคนมีผื่นเล็ก-ใหญ่แตกต่างกัน มีอาการปวดของเส้นประสาท ผู้ป่วยบางรายหายจากผื่นแล้ว แต่ทรมานด้วยอาการปวดของเส้นประสาทเป็นเดือนหรือเป็นปี โรคงูสวัดเป็นผื่นได้ทั่วทั้งตัว อาจเป็นบนใบหน้า ขึ้นตา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับปอดอักเสบ หรือไข้สมองอักเสบ

วัคซีนงูสวัดควรเริ่มฉีดเมื่อใด และมีความสำคัญอย่างไร

ในประเทศไทยมีข้อบ่งชี้ให้ฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะอุบัติการณ์ของโรคเยอะมากขึ้นในช่วงอายุนี้ การฉีดวัคซีนงูสวัดจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ดังนี้

  1. ลดความรุนแรงของผื่น
  2. ลดอาการปวดของเส้นประสาทหลังจากการหายของโรค (Post hepatic neuralgia) ได้ค่อนข้างดี

 ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี

ฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วจะมีโอกาสเป็นงูสวัดได้อีกหรือไม่

หลังจากฉีดแล้วยังสามารถเป็นโรคงูสวัดได้ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันการเกิดโรค แต่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคให้น้อยลง ลดระดับความรุนแรงและลดอาการปวดจากโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเป็นซ้ำได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง

หากกำลังเป็นหรือเพิ่งหายจากโรคงูสวัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนงูสวัดอีกหรือไม่ และสามารถฉีดได้เมื่อไหร่

หากผู้ป่วยกำลังเป็นหรือเพิ่งหายจากโรคงูสวัด ยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดวัคซีน เพราะหลังจากการหายของโรค ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถรับวัคซีนงูสวัดได้
นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอีสุกอีใส แต่ยังไม่เคยเป็นโรคงูสวัด ก็ยังมีความจำเป็นและสามารถฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

เนื่องจากวัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ไม่แนะนำฉีดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรือมีภาวะแพ้วัคซีน ดังนั้น ท่านสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมสำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้น (Booster dose)

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก จนในขณะนี้การระบาดอยู่ในระดับต่ำและควบคุมได้ หนึ่งในสาเหตุหลักที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันอย่างแพร่หลาย วัคซีนอาจไม่ได้ป้องกันการเกิดโรคได้ 100% แต่สามารถป้องกันความรุนแรงจากโรคได้ จากข้อมูลในประเทศไทยพบว่าผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงถึง 40% ที่จะเสียชีวิตจากโรค โดยวัคซีนสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

วัคซีนชุดแรก (Primary series)

คือ การรับวัคซีนครบ 2 เข็มแรก โดยอาจเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันหรือวัคซีนสูตรไขว้ ณ ขนาดนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน สามารถฉีดได้ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 3-8 สัปดาห์ โดยภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ยาว 3-6 เดือน

วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose)

ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนชุดแรก (Primary series) และช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยสามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด 1 สายพันธุ์ (Monovalent vaccine) เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นเท่านั้น โดยทั่วไปคนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดนี้เป็นเข็มที่ 3 หรือ 4 กันแล้ว โดยสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดนี้ได้ 3-4 เดือนหลังวัคซีนชุดแรก

วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine) เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นและสายพันธุ์โอมิครอน (BA.4 และ BA.5) ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่หรือรุ่นที่ 2 (Second generation) กระทรวงสาธารณสุขแนะนำประชาชนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป โดยต้องฉีดวัคซีนชุดแรกมาก่อนและห่างกันอย่างน้อย 4 เดือน หลังฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด ข้อมูล ณ ปัจจุบันยังแนะนำให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดนี้แค่ 1 เข็ม อนาคตอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของโรค

บุคคลกลุ่มใดที่ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

บุคคลทั่วไปสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ตามข้อบ่งชี้เบื้องต้น แต่จะมุ่งเน้นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่กลุ่ม “608” ประกอบด้วยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่

  1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. โรคไตวายเรื้อรัง
  4. โรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคอ้วน
  6. โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน
  7. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป

รวมถึงบุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปยังผู้ป่วยกลุ่มนี้

การระบาดของโรคตอนนี้ลดลงอย่างมาก อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคประจำฤดูกาล ในอนาคต อาจมีคำแนะนำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ คำแนะนำสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอขึ้นกับสถานการณ์การระบาดและสายพันธุ์ของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป

เอกสารอ้างอิง: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC)