นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ถุงน้ำดีคืออะไร?

ถุงน้ำดี (Gallbladder) คือ อวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงรูปทรงรี ตั้งอยู่บริเวณใต้ต่อตับ มีท่อขนาดเล็กเชื่อมเข้ากับท่อน้ำดีหลักของร่างกาย ถุงน้ำดีทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับ เมื่ออาหารผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กจะไปกระตุ้นให้ถุงน้ำดีบีบตัว เพื่อขับน้ำดีให้ไหลออกสู่ท่อทางเดินน้ำดีหลักที่เปิดออกสู่ลำไส้เล็ก ทำให้ไขมันในอาหารแตกตัว เพื่อย่อยและดูดซึมต่อไป

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (gallstones) คืออะไร?

น้ำดีปกติมีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ คอเลสเตอรอล, ตะกอนสีน้ำดี (bile pigment) และแคลเซียม เมื่อมีความไม่สมดุลของส่วนประกอบเหล่านี้ในถุงน้ำดี จะกระตุ้นให้น้ำดีตกตะกอนเป็นผลึก กลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดี สามารถเกิดได้ทั้งนิ่วขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กหลายๆก้อนก็ได้

นิ่วในถุงน้ำดี มี 2 ชนิดหลัก ได้แก่ นิ่วคอเลสเตอรอล (Cholesterol stone) และนิ่วตะกอนสีน้ำดี (Pigment stone) โดยอุบัติการณ์ของผู้ป่วยในประเทศฝั่งตะวันตกจะพบนิ่วชนิดคอเลสเตอรอลมากที่สุด กลับกันผู้ป่วยในประเทศฝั่งตะวันออกจะพบนิ่วชนิดตะกอนสีน้ำดีมากกว่า

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

1.ภาวะอ้วน

2.เพศ เพศหญิงจะพบนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าเพศชายประมาณ 1.5 เท่า

3.อายุ ช่วงอายุที่พบมากอยู่ที่ประมาณ 40 – 60 ปี

4.กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน

5.การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว

6.การบริโภคอาหารที่ไขมันสูง และกากใยต่ำ

อาการแสดงของนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

อาการหลักคือปวดท้อง ลักษณะปวดเสียดบริเวณลิ้นปี่หรือช่องท้องใต้ชายโครงข้างขวา อาจปวดร้าวมาที่สะบักขวาได้ มักเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารประมาณ 10 – 15 นาที โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง หรือบางท่านอาจจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก

โรคหรือภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี

1.ท่อน้ำดีอุดตัน จากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดไปอุดตันส่วนปลายท่อน้ำดี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง และตัวตาเหลือง(ดีซ่าน)

2. ถุงน้ำดีอักเสบ จะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับมีไข้

3. ตับอ่อนอักเสบ  เนื่องจากนิ่วหลุดไปอุดท่อน้ำดีส่วนปลายที่เชื่อมต่อกับท่อตับอ่อน หรือปลายท่อตับอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่อย่างรุนแรงร้าวทะลุหลัง อาจพบร่วมกับอาการอาเจียนอย่างรุนแรงได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หากสงสัยว่าท่านมีนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะทำการส่งตรวจภาพถ่ายรังสีเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อหาสาเหตุ

นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายหรือไม่?

ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าร้อยละ 50 มักไม่มีอาการ และมีโอกาสเกิดปัญหาจากนิ่วในถุงน้ำดีน้อยกว่าร้อยละ25 ในระยะเวลา10ปี กลับกันผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีและมีอาการของนิ่ว ควรเข้ารับการรักษา เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วอุดตันในท่อน้ำดี หรือ ตับอ่อนอักเสบจากนิ่วได้

คำแนะนำ หากท่านมีอาการปวดท้องที่สงสัยสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี ควรไปพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีไข้ ปวดท้องมาก หรือมีอาการตัวตาเหลือง ที่สงสัยภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

วิธีการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี

ถ้ามีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดี การรักษาคือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก วิธีการผ่าตัดในปัจจุบัน จะใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่เจ็บน้อย แผลผ่าตัดเล็ก และฟื้นตัวเร็ว แต่ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ถุงน้ำดีบวมมาก หรือมีพังผืดมาก ทำให้ไม่สามารถแยกถุงน้ำดีออกจากอวัยวะข้างเคียง ศัลยแพทย์จะเปลี่ยนวิธีการผ่าตัดจากส่องกล้องมาผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) เพื่อตัดถุงน้ำดีแทน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การรับประทานยาสลายนิ่ว จากการศึกษาพบว่าไม่ได้ผล เนื่องจากยาไม่สามารถละลายนิ่วได้หมด เมื่อหยุดยาก็สามารถเกิดนิ่วใหม่ได้ ส่วนการใช้เครื่องสลายนิ่วนั้นใช้ได้เฉพาะนิ่วในท่อไต ไม่สามารถใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีได้