โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ พบได้บ่อยในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มจะพบได้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม คือภาวะที่เกิดจากการสึกหรอของผิวข้อเข่า เกิดการเสียดสีกันของกระดูกใต้ผิวข้อ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า, ข้อเข่าผิดรูป, เดินได้ไม่ปกติ, ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก จนอาจถึงขั้นทุพพลภาพได้ เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

1.  อายุมากกว่า 50ปี ขึ้นไป

2.  น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25)

3.  มีอาการปวดในข้อเข่า, ข้อยึด-ติด หรือไม่มั่นคงขณะเดิน

4.  ขาโก่งผิดรูป

5.  พิสัยการงอ-เหยียดหัวเข่าลดลง

6.  มีเสียงดังกรอบแกรบในหัวเข่าขณะเคลื่อนไหว

การรักษา

การรักษาเริ่มจากวิธีการอนุรักษ์นิยม ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการปวด เช่นท่านั่งคุกเข่า, นั่งยอง, นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ
  2. แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า เช่น การปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, รำมวยจีน
  3. ลดน้ำหนักลง อย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว
  4. การกินยา ได้แก่ ยาเสริมข้อ และยาลดปวด
  5. การฉีดยาในข้อเข่า

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

วิธีนี้แนะนำในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม เกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม (Total knee arthroplasty) เป็น 1ใน 3 ของการผ่าตัดที่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมาปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ดีดังเดิม ช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ทีมผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีความพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทัน สมัย และกระบวนการลดอาการปวดที่พัฒนาขึ้นทั้งก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยลง และสามารถกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้นหลังผ่าตัด ช่วยเพิ่มความพึงพอใจแก่ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด

บทความจาก นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ สาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า