น้ำประปาเค็มมีผลต่อสุขภาพ จริงหรือไม่?

ช่วงที่ผ่านมา การประปานครหลวงได้แจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำมีรสชาติกร่อยเค็มจนรับรู้ได้ นอกจากรสชาติของน้ำที่ผิดจากปกติไปแล้ว ยังอาจมีผลต่อสุขภาวะของประชาชนอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันครับ

           ปัญหาของน้ำเค็มหนุนสูงคือ น้ำประปาจะมีเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ในปริมาณมากขึ้น ซึ่งโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือที่แนะนำให้คนปกติรับประทานคือไม่เกิน 6 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หากรับประทานเกลือมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต โดยทั่วไปคนไทยมักเอาน้ำประปามาต้มหรือกรองก่อนดื่ม ซึ่งกระบวนการต้มหรือกรองไม่สามารถกำจัดโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำประปาได้ ดังนั้นในภาวะน้ำทะเลหนุนสูง การดื่มน้ำประปา (แม้ว่าจะต้มหรือกรองแล้ว) จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่มากกว่าปกตินั่นเอง

  • การดื่มน้ำประปาในคนปกติ

          การดื่มน้ำประปาในคนปกติ ที่ตรวจสุขภาพประจำปีแล้วไม่มีโรคประจำตัว อาจไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใด ๆ เนื่องจาก ไตที่ทำงานเป็นปกติจะสามารถขับโซเดียมและคลอไรด์ส่วนเกินออกจากร่างกายได้ เนื่องจากเกลือจากน้ำประปาจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอาหารอื่น ๆ ที่คนเรารับประทานในแต่ละวัน ดังนั้นการดื่มน้ำประปาในภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในคนปกติ จึงไม่ค่อยมีผลต่อสุขภาพมากนัก

  • การดื่มน้ำในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

          ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ลดอาหารเค็มหรือลดอาหารที่โซเดียมสูง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถมีอาการของโรคกำเริบได้หากมีภาวะโซเดียมเกิน เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นและควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยโรคหัวใจอาจมีภาวะน้ำเกินหรือภาวะน้ำท่วมปอด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาในภวะน้ำทะเลหนุนสูง

          วิธีการที่สามารถกำจัดโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำดื่มได้ดีคือการใช้ระบบรีเวอร์สออสโมซิส (reverse osmosis: RO) ระบบ RO คือระบบที่ทำน้ำให้บริสุทธิ์โดยการใช้แรงดันน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน ระบบ RO นี้ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากน้ำโดยเฉพาะสารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น โมเลกุลโซเดียมและคลอไรด์ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ ดื่มน้ำที่ผ่านระบบ RO เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำประปาที่ผ่านระบบ RO ที่บางบ้านอาจติดตั้งไว้ หรือตู้กดน้ำดื่ม RO ที่มีบริการในบางพื้นที่ จะปลอดภัยกว่าการดื่มน้ำประปาที่ผ่านการกรองหรือการต้มเท่านั้น

ข้อสรุป:

·       คนปกติสามารถดื่มน้ำได้ปกติ

·       ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาที่ผ่านเพียงการต้มหรือการกรอง

แนะนำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ ดื่มน้ำที่ผ่านระบบ RO เช่นน้ำบรรจุขวด น้ำประปาที่ผ่านระบบ RO ที่ติดตั้งไว้ที่บ้าน หรือตู้กดน้ำดื่ม RO