ศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จัดกิจกรรม “หลักสี่ รู้ สู้มะเร็ง” ให้กับชมรมผู้สูงอายุรักษ์สุขภาพ ณ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น สืบสานพระปณิธานใน สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

26 มกราคม 2567 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี  จัดกิจกรรม “หลักสี่ รู้ สู้มะเร็ง” ให้กับชมรมผู้สูงอายุรักษ์สุขภาพ ณ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อสืบสานพระปณิธานใน ศาตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมด้วยการใช้กระบวนการวิจัย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมงานบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน

ภายในกิจกรรม “หลักสี่ รู้ สู้มะเร็ง” ได้รับเกียรติจากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ จากวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวิทยากรให้ความรู้ ประเมินความรอบรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง กิจกรรมสันทนาการ และประชาสัมพันธ์การให้บริการของศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร โดยได้รับความสนใจจากชมรมผู้สูงอายุรักษ์สุขภาพ จำนวน 41 คนเป็นอย่างดี กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้น ณ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และศูนย์การเรียนรู้และบริการสุขภาพในชุมชน วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ซอยงามวงศ์วาน 47 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยพบว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 คนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จากรายงานข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข สาเหตุการตายของประชาชนโรคมะเร็ง ปี 2565 พบว่าอัตราตาย 128 คนต่อแสนประชากร โดยมีสาเหตุอันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อนํ้าดี มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2565)

การพัฒนาต้นแบบศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร ใช้ระบบการให้บริการที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย โดยใช้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” (Seamless Health Service Network) อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology and Innovation) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนา มีการนำกลยุทธ์ 7 S ของ McKinsey มาใช้ในการบริหารจัดการ และนำแนวคิด Lean โดยมุ่งเป้าให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการสร้างเครือข่ายแบบ Network and Health Frontiers เพื่อให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์กลางด้านการบริการโรคมะเร็งตลอดจนเป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพที่มีศักยภาพรองรับงานด้านบริการ สู่ความเป็นเลิศด้านบริการที่มีคุณภาพ ต้นทุนเหมาะสม และให้การบริการที่รวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และวิจัยด้านการบริการโรคมะเร็ง เป็นแหล่งฝึกอบรม เพื่อลดอัตราการป่วย การตาย และลดระยะเวลารอคอยเป็นสำคัญ

วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นคณะวิชาในองค์กรระดับมหาวิทยาลัย ที่มีภารกิจในการจัดการศึกษาผลิตบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ให้เป็นพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ การให้บริการวิชาการ และการบริการสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นจุดเน้นขององค์กร การนี้ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จึงดำเนินการพัฒนาศูนย์บริการสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยสาขาหลักที่มารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อันเป็นโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ศูนย์ให้คำปรึกษา และศูนย์ประสานงานที่เป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร เพื่อให้บริการสุขภาพด้านความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง และคัดกรองการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกในชุมชน และเพื่อนำต้นแบบศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร มาให้บริการตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาโรคมะเร็ง 7 ด้าน รวมทั้งประเมินผลลัพธ์ของการให้บริการ เพื่อพัฒนาการบริการไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป