ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ ๓ และคณาจารย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวันที่สอง ณ ห้องบรรยาย ๓A – ๓๐๑ ชั้น ๓ อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

วันพุธที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๒.๕๖ น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง กลไกการเกิดโรคมะเร็ง (Oncogenesis) เป็นวันที่สอง พระราชทานแก่นักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ ๓ จำนวน ๓๒ คน และคณาจารย์ บุคลากรจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน หัวข้อการบรรยายพิเศษในวันนี้ เรื่อง อองโคยีน (Oncogene) หรือ ยีนมะเร็งและการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ ยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง (Tumor Suppressor Genes) และการควบคุมวัฏจักรของเซลล์  โรคมะเร็งเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดได้จากไวรัสที่เข้าแทรกแซงเข้าไปในเซลล์และเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ที่ปกติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุลพบว่าการกลายพันธุ์ของยีน การแทรกแซงของยีน หรือการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของโครโมโซมสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนมะเร็ง ในสภาวะปกติเซลล์จะถูกควบคุมให้มีการเจริญเติบโตในอัตราที่เหมาะสม แต่เมื่อมีการแสดงออกของยีนมะเร็งที่สูงกว่าปกติ เซลล์จะถูกกระตุ้นให้มีการแบ่งตัวเร็วขึ้นและต่อต้านกระบวนการตายของเซลล์ นอกจากยีนมะเร็งแล้วยังมียีนยับยั้งการเกิดมะเร็งหลายชนิดที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ยีน p53 ที่สร้างโปรตีนจำเพาะซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับความผิดปกติทางพันธุกรรม จากการศึกษาในผู้ป่วยพบว่าการกลายพันธุ์ของยีน p53 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมวัฏจักรของเซลล์อาจก่อให้เกิดมะเร็งขึ้นผ่านกระบวนการต่อต้านการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ ซึ่งการกลายพันธุ์นี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ฝุ่น PM2.5

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยในสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆ การเผาป่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง  สำหรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนแพทย์ลำดับที่ ๒๓ ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ World Federation for Medical Education โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์และแพทยสภา  จัดตั้งขึ้นโดยพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยพระวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะยกระดับการศึกษาทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำในการผลิตหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อสร้างแพทย์และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติ  โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ทันสมัยทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอก เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ ที่มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป