วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” เข็มที่ 2 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้กับผู้พิการ จำนวน 2,328 ราย

6 กันยายน 2564: ณ ลานกิจกรรมชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำโดยศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ รองศาสตราจารย์ ดร. ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรจิตอาสา ร่วมกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และธพส. ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” เข็มที่ 2 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้กับผู้พิการ จำนวน 2,328 ราย ร่วมสานต่อพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรและพระราชทานแนวนโยบายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดต่อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด เร่งสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้พิการ และผู้ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันนี้เป็นกลุ่มที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

        ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดสรรวัคซีน”ซิโนฟาร์ม” ที่ได้รับบริจาคมาจากหน่วยงานองค์กรต่างๆที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนฯ ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ พระภิกษุและนักบวช รวมถึงประชาชนในชุมชนกลุ่มพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนฯ โดยนำระบบการฉีดวัคซีนภาคสนามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พัฒนา ร่วมกับ เอไอเอส มาใช้ในการลงทะเบียนและบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ร่วมสานหัวใจแบ่งปันวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ