โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือแพ้อากาศ โรคที่ไม่อาจละเลย

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้(Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกกันว่า “แพ้อากาศ” เป็นโรคที่พบบ่อยและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกมีความไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย คือ ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคของสัตว์ เกสรละอองหญ้าและเชื้อรา

โรคชนิดนี้มักไม่ค่อยรุนแรงถึงชีวิต แต่จะส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็น 2 ชนิด คือ

1.      อาการเป็นครั้งคราว (Intermittent) หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการเป็นบางครั้ง โดยมีอาการน้อยกว่า 4 วันต่อ 1 สัปดาห์ หรือ มีอาการติดต่อกันน้อยกว่า 4 สัปดาห์

2.      อาการเป็นต่อเนื่อง (Persistent) หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการตลอดเวลา โดยมีอาการมากกว่า 4 วันต่อ 1 สัปดาห์ และ มีอาการติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์

สาเหตุ

เกิดจากกรรมพันธุ์ หากในครอบครัวมีคนเป็นภูมิแพ้ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยพบว่าหากพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้  ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ ประมาณ 25-30%

เกิดจากสิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา โดยพบว่าไรฝุ่นเป็นสาเหตุที่พบบ่อยสุด รองลงมาคือแมลงสาบและละอองเกสรพืช นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ที่ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบหรือรุนแรงขึ้น เช่น อากาศเปลี่ยน ความเครียด การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ เป็นต้น

การตรวจภูมิแพ้

1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นการนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น ตัวไรฝุ่น รังแคของสัตว์ แมลงสาบ ฯลฯ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของคนไข้โดยใช้ปลายเข็มสะกิด วิธีนี้ผู้ป่วยต้องงดยาแก้แพ้ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนมาทดสอบ

2. การตรวจหาภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (Serum Specific lgE) เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด วิธีนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากไม่เสี่ยงต่ออาการแพ้ทั่วร่างกายและผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนมาตรวจ

การรักษา

  1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น
  2. หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบๆให้ปราศจากฝุ่น
  3. ซักทำความสะอาดเครื่องนอน ปลอก หมอน มุ้ง ผ้าห่ม อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
  4. ทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในอากาศ
  5. หลีกเลี่ยงละอองเกสร หญ้า ดอกไม้ วัชพืช
  6. หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง หรือปัจจัยที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ เช่น การอดนอน สูบบุหรี่ การสัมผัสกับฝุ่น ควัน อากาศร้อน เย็น
  7. การใช้ยารักษา เพื่อบรรเทาและควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) สำหรับผู้ที่มีอาการต่อเนื่องอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Intranasal steroids) ซึ่งถือเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
  8. การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ (Immunotherapy)  เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย โดยเริ่มฉีดจากทีละน้อย และเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ร่างกายปรับตัวจนทนต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ได้ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 – 5 ปี
  9. การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก

สิ่งสำคัญคือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และต้องดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสภาพจิตใจให้แจ่มใส ลดความเครียด เพราะความเครียดจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ

คลินิกโรคจมูกภูมิแพ้และผ่าตัดส่องกล้องไซนัส                        

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์