ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ณ ตำหนักพิมานมาศ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 13.35 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ห้องพิธี ตำหนักพิมานมาศ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พระราชทานพระวโรกาสให้ นายชวัช อรรถยุกติ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ นำนายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เฝ้าในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ ได้ถวายของที่ระลึก และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ภาพเสือ แก่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อเป็นที่ระลึกด้วย จากนั้น เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ถวายวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดถวาย จำนวน 1 แสนโดส เพื่อทรงใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยพระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์มดังกล่าวแก่ นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก เลขาธิการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. เพื่อให้หน่วยแพทย์ พอ.สว.ซึ่งมีความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ นำไปฉีดแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงต่อไป
จากนั้น เวลา 14.17 น. เสด็จไปยังโครงการเขตนวัตกรรมเภสัชศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในบริเวณตำหนักพิมานมาศ ทรงนำเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยดูงาน พร้อมกับทรงติดตามความคืบหน้าโครงการสนองพระดำริ ในการเป็นศูนย์รวบรวมองค์ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ครบวงจรตั้งแต่การวิจัยคิดค้น การทดลอง การศึกษาระดับคลินิค และการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย มีพื้นที่ 150 ไร่ ประกอบด้วยอาคารต่างๆ เช่น อาคารปฏิบัติการวิจัย สำหรับให้นักวิจัยคิดค้นและพัฒนาสูตรตำรับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานพระนโยบายในการดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตที่สามารถนำมาใช้ได้ในมนุษย์ พัฒนาเภสัชภัณฑ์ ตลอดจนเชื่อมโยงความรู้และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์กับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ด้วยตนเอง อาคารโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ปราศจากเชื้อ ซึ่งเป็นอาคารผลิตยาต้นแบบ เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการศึกษาวิจัยสูตรตำรับยาเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ ต่อยอดสู่การผลิตในระดับรุ่นทดลองผลิต รวมถึงศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์และควบคุมให้ได้มาตรฐาน เพื่อการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา GMP มีเครื่องจักรระบบสนับสนุนสำหรับการทดลองผลิตยา 2 ส่วน คือ ส่วนเครื่องจักรและระบบสนับสนุนสำหรับการทดลองผลิตยาเม็ดแบบการตอกโดยตรง สามารถตอกอัดยาเม็ดต่อเนื่อง 9,000 เม็ดต่อชั่วโมง รองรับการผสมวัตถุดิบทั้งในอุตสาหกรรมยา อาหาร และเคมีภัณฑ์ ปัจจุบันสามารถผลิตยาเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อีกทั้งยังมีการผลิตยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลตำรับอื่นๆ เช่น ยาพาราเซตามอล และวิตามินรวมสำหรับบำรุงร่างกาย และส่วนเครื่องมือเครื่องจักรและระบบสนับสนุนสำหรับการทดลองผลิตยากึ่งแข็ง เพื่อรองรับการผลิตตำรับยากึ่งแข็งในรูปแบบเจล ครีม โลชั่น ที่มีความหนืดสูงถึง 7,000 เซนติพอยส์ ปัจจุบันสามารถผลิตยูเรียครีมเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนังให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ให้ยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และมีแผนผลิตครีมต้านเชื้อราในกลุ่มวิทฟิลด์ ออยเมนต์ รวมถึงอัลตราซาวด์เจล สำหรับใช้ตรวจอัลตราซาวด์ภายในโรงพยาบาลในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ที่จัดสร้างขึ้นตามพระดำริในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน