ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญถุงยังชีพพระราชทานมอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยนายวลฺลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญถุงยังชีพพระราชทานมอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎร โดยมีนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายอำเภอถลาง เป็นตัวแทนเข้ารับมอบถุงยังชีพพระราชทาน จากนั้นร่วมมอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา วัดท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงเกิดดินสไลด์เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จำนวน ๔ จุด และสะพานข้ามคลองบางเหนียวดำ หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีสุนทร ขาด ไม่สามารถใช้การได้ ในส่วนของอำเภอถลางได้รับผลกระทบจำนวน ๖ ตำบล ๔๖ หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน ๑,๑๕๐ ครัวเรือน ๒,๓๐๐ คน ได้แก่ ตำบลเทพกระษัตรี หมู่ที่ ๑-๑๑, ตำบลสาคู หมู่ที่ ๑-๕, ตำบลศรีสุนทรหมู่ที่ ๑-๘, ตำบลเชิงทะเล หมู่ที่ ๑-๖, ตำบลป่าคลอก หมู่ที่ ๑-๙ และตำบลไม้ขาว หมู่ที่ ๑-๗

การนี้ นายวลฺลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เชิญพระกระแสความห่วงใยของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่มีต่อประชาชนชาวไทย ที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติในทุกพื้นที่และทุกภูมิภาคของประเทศและในพื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ยังความปลาบปลื้มในพระกรุณาธิคุณแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยอย่างหาที่สุดมิได้ โอกาสนี้ได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุที่ประสบอุทกภัย จำนวน ๓ รายด้วย

จากนั้น รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุดินสไลด์ทางขึ้นเขาป่าตอง อำเภอกะทู้ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานจากกองทัพเรือ ภาคที่ ๓ ที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกในการสัญจรทางเท้าให้กับประชาชน จากนั้นได้เดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติที่ให้ประชาชนได้สัญจรเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาลาดชันพอสมควร แต่มีราวจับเป็นช่วงๆ และมีไฟส่องสว่าง นอกจากนี้ พื้นที่หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีสุนทร สะพานข้ามคลองบางเหนียวดำ ขาดชำรุดประชาชนไม่สามารถใช้การได้ ทั้งนี้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๑๘ ภูเก็ต และหลายหน่วยงานได้ช่วยกันติดตั้งสะพานแบริ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้