กิจกรรมรณรงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ CRA Cancer Care Not Only High-Tech, But also High-Touch

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ
CRA Cancer Care Not Only High-Tech, But also High-Touch
ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา #เราพร้อมสู้เคียงข้างคุณ รักษาด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงตามมาตรฐานสากล
ควบคู่กับการดูแลชีวิตนำความหวังสู่หัวใจผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยมาตรฐาน ESMO แห่งแรกในประเทศไทย

8 กันยายน 2565 : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้และรณรงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มประคับประคองรวมถึงญาติและครอบครัวมีกำลังใจและมีแนวทางต่อสู้ต่อไปในอนาคต ภายใต้แนวคิด CRA Cancer Care Not Only High-Tech, But also High-Touch ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา #เราพร้อมสู้เคียงข้างคุณ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ สืบสานพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งในการช่วยเหลือประชาชนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง ตลอดจนยกระดับการศึกษา ค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งครบทุกมิติ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ที่แสดงถึงความ High -Tech มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลรักษาร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมกันวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเพื่อทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตลอดจนการดูแลชีวิตและจิตใจในแบบ High-Touch และการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ด้วยแนวทางการดูแลทางการแพทย์แบบองค์รวมที่มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และบรรเทาความทุกข์ทรมานในผู้ป่วยที่มีโรคร้ายแรงและซับซ้อน ควบคู่กับการรักษาหลักโดยคํานึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การดูแลทางกาย การดูแลด้านจิตใจ การดูแลทางสังคม การดูแลทางด้านจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้ในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งถือเป็นจุดเด่นในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งของศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพราะโรคมะเร็งนั้น ไม่ได้จบแค่การรักษา แต่ต้องคอยติดตาม รับฟังปัญหา เพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังการรักษาจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป หรือ ESMO (European Society for Medical Oncology) ให้เป็น “ESMO Designated Centres of Integrated Oncology and Palliative Care” เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองนี้อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมรณรงค์ CRA Cancer Care Not Only High-Tech, But also High-Touch ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา #เราพร้อมสู้เคียงข้างคุณ จัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2565 ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ร่วมเสวนาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง พร้อมเสวนา การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการดูแลหลังการสูญเสีย โดยทีมแพทย์และพยาบาล Palliative Cancer Care ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์ผสมผสานและการรักษาแบบประคับประคอง นำโดย แพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา นายแพทย์อดิศร โวหาร ประธานคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และคุณรัตติยา ไชยชมภู หัวหน้าหน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กิจกรรมเสวนาให้ความรู้หัวข้อ “ LIVE and DIE as you DESIGN : อยู่ได้อย่างใจ ตายอย่างที่ออกแบบ ” และ Work shop เทคนิคพิชิตมะเร็งและสอนใช้สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง โดย ART for CANCER by Ireal มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยมีคุณได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

แพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไข้ทุกคนให้ดีขึ้น ตามพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จากปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในกลุ่มผู้ป่วยอยู่เสมอ โดยในเดือนตุลาคมก็มีวันสำคัญที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวัน World Hospice and Palliative Care Day (วันการดูแลแบบประคับประคองสากล) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 นับเป็นเทศกาลแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้ในช่วงท้ายของชีวิตโดยมีสารณรงค์ในปีนี้ว่า “Healing hearts & Communities” การเยียวยาใจและชุมชน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลความโศกเศร้าจากการสูญเสียและการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ซึ่งหลายครอบครัวมีการสูญเสียบุคคลที่รักอย่างกระทันหัน ไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดและบอกลา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสูญเสียเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพบเจอ และความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบมากหรือน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่สูญเสียควรมีโอกาสได้แบ่งปันเรื่องราวตามแนวทางชุมชนเพื่อฟื้นคืนความหวังและการเยียวยา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความทุกข์จากความสูญเสีย และจากการที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลจาก ESMO Designated Center of Integrated Oncology & Palliative Care ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทั้งนี้ เราจะได้ตระหนักอยู่เสมอว่า เรามีภารกิจในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจาก ESMO หรือ สมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป เป็นสมาคมที่มีการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่มีมาตรฐานในระดับสากล ในการที่ทาง ESMO ได้ให้การรับรองในครั้งนี้ นับว่าโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีศูนย์มะเร็งที่มีระบบบริการด้าน Palliative care และ Integrative care สำหรับผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร โดยครอบคลุมทั้ง 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านคุณภาพการบริการ ด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัย”

ด้าน นายแพทย์อดิศร โวหาร ประธานคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายและกระบวนการ การดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามมาตรฐานในระดับสากลเพื่อการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเลิศว่า “องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำจำกัดความของการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ว่าเป็นวิธีให้การดูแลที่เป็นองค์รวม โดยมุ่งเน้นความสำคัญกับทุกมิติของชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว ดังนั้น กลุ่มผู้ป่วยหลักที่ควรเข้าถึงระบบการดูแลแบบประคับประคองคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคหรือภาวะการเจ็บป่วยที่รักษาให้หายขาดได้ยาก โดยให้การดูแลควบคู่ไปกับการรักษาหลัก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่การหยุดรักษาหรือทอดทิ้งผู้ป่วย แต่เป็นการประคองไปด้วยกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ ซึ่งกระบวนการดูแลจะครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และครอบครัว ทั้งในระยะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ไปจนถึงการดูแลหลังการสูญเสีย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีเป้าหมายหลักในการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อลดความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย, ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัวสามารถปรับตัวและเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม, ลดหรือยกเลิกการรักษาที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิต ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับผู้ป่วยแล้วและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้ายของชีวิต”

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง ตามมาตรฐานในระดับสากลเพื่อการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเลิศ ผ่านการให้บริการด้านการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการให้การบริการคือ หน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา กระบวนการดูแลมุ่งเน้นการบรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว กระบวนการดูแลของทีมให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ประกอบด้วย การประเมินปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัว การวางแผนการดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกำหนดอาหาร นักสังคมสงเคราะห์ และเภสัชกร ซึ่งการดูแลของทีมจะเน้นการดูแลตามปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมให้การดูแลแบบประคับประคองจะคอยสนับสนุนและมีบทบาทในการให้ความรู้ คำแนะนำ การสอน การเสริมพลัง และเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวและเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม มีการติดตามประเมินผลเป็นระยะ และให้การดูแลต่อเนื่องตั้งแต่ที่โรงพยาบาลจนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้าน รวมถึงให้การดูแลความโศกเศร้าของญาติภายหลังการสูญเสีย

คุณรัตติยา ไชยชมภู หัวหน้าหน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงบทบาทของพยาบาลที่อยู่ในทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและกิจกรรมการแพทย์ผสมผสานที่นำมาบูรณาการในการดูแลผู้ป่วยว่า “บทบาทของพยาบาลที่อยู่ในทีมให้การดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เริ่มตั้งแต่การรับปรึกษา ซึ่งพยาบาลจะเป็นด่านแรกในการเข้าไปประเมินผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และจิตวิญญาณ เมื่อสามารถระบุปัญหาได้ พยาบาลจะให้การดูแลเบื้องต้น และมีการประสานแพทย์ในทีมเพื่อร่วมดูแลในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านอาการไม่สุขสบาย หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาที่ซับซ้อน จากนั้นเราจะมีการประชุมเพื่อร่วมวางแผนการดูแลในผู้ป่วยแต่ละรายร่วมกับทีม มีการให้การดูแลตามแผนการดูแลของทีมและเป้าหมายของผู้ป่วยและครอบครัว มีการติดตามผลการดูแลโดยการโทรติดตามอาการ การใช้ telehealth และการเยี่ยมบ้าน โดยให้การดูแลตั้งแต่ที่ผู้ป่วยป่วยยังมีชีวิตอยู่และหลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิต จะมีการดูแลและประเมินความโศกเศร้าของญาติภายหลังการสูญเสียด้วย ด้านการบูรณาการการแพทย์ผสมผสาน (Integrative Oncology) เป็นกิจกรรมเสริมที่ให้ควบคู่ไปกับการรักษาหลักของโรคมะเร็ง มุ่งเน้นการดูแลและบำบัดด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมศิลปะเพื่อการเยียวยาใจ กิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิต กิจกรรมอิ่มบุญอิ่มใจ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ช่วยให้ทีมที่ดูแลผู้ป่วยสามารถให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมภาพลักษณ์ต่าง ๆ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้แบบใกล้เคียงกับภาวะปกติ โดยหน่วยงานจะมีการมอบวิกผม เต้านมเทียม หมวกไหมพรมสำหรับผู้ป่วยด้วย

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “LIVE and DIE as you DESIGN: อยู่ได้อย่างใจ ตายอย่างที่ออกแบบได้” และการทำ Work shop เทคนิคพิชิตมะเร็งและสอนใช้สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งจากโครงการ Art for Cancer by Ireal ทั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรม Work shop แบบต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2565 โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมศิลปะบำบัดจากชุดศิลปะดูแลใจ โดย Art for Cancer by Ireal กิจกรรมทำอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยนักกำหนดอาหาร กิจกรรมกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยนักกายภาพบำบัด กิจกรรมให้คำแนะนำและแจกอุปกรณ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ วิกผม เต้านมเทียม กิจกรรมการสอนแต่งหน้า โดยคุณฟลุค รพี ชูสุวรรณ Beauty Influencer และกิจกรรมเสริมบุคลิกภาพโดยครูกิ๊ฟ คริมา จิวะชาติ Executive Image Consultant เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ต้องการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Plan) หรือทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living will) สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ หน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ชั้น 14 ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร. 0 2576 6168 , 06 4217 4951

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่ต้องการเข้ารับการปรึกษาเพื่อวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ตรวจเพทซีที/เพทเอ็มอาร์ไอ สามารถส่งประวัติปรึกษาและนัดหมายล่วงหน้าผ่านเมนู “ปรึกษาโรคมะเร็ง” ทาง
LINE Official Account โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ @chulabhornhospital
(กดเพิ่มเพื่อน: http://nav.cx/8DqLuQm)
เลือกหัวข้อและชนิดมะเร็งที่ต้องการปรึกษา พร้อมเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อส่งปรึกษา อาทิ ประวัติการรักษา
รายงานการผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายงานผลทางรังสีวินิจฉัยพร้อมซีดี รายงานผลทางพยาธิวิทยา
ผลชิ้นเนื้อพร้อมสไลด์บล็อก (ถ้ามี) ผลชิ้นเนื้อไขกระดูก (ถ้ามี) เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไปเพื่อประหยัดเวลาและลดการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น