ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะกรรมการอำนวยการโครงการรางวัลศรีสวางควัฒน ประจำปี 2565 ลงพื้นที่เยี่ยมและประเมินผลงานฯ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะกรรมการอำนวยการโครงการรางวัลศรีสวางควัฒน ประจำปี 2565 นำโดย ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาความร่วมมือด้านบริการทางการแพทย์และภาคีเครือข่าย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายบุรินทร์ ตระการวนิช  ผู้อำนวยการสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นางสุนันทา กาญจนาพงศ์ ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนางสิรภัทร พงศ์ปิยาไพบูลย์ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย ดร.ปภาชุดา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ และคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี และนำเสนอภาพรวมของการดำเนินงานทางการแพทย์ของหน่วยงาน พร้อมตอบข้อซักถามของคณะกรรมการโครงการฯ และตรวจเยี่ยมการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ จากนั้นได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชน เพื่อประกอบการประเมินผลการคัดเลือกต่อไป

        “โครงการรางวัลศรีสวางควัฒน ”  เกิดจากความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยสรรหาองค์กรสาธารณสุขดีเด่นที่เป็นองค์กรแห่งการอุทิศตนในการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ อุตสาหะและทุ่มเท สมควรได้รับการยกย่องและเชิดชู ทั้งยังเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขในองค์กร ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่นได้ปฏิบัติตาม

        ปัจจุบัน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 จำนวนทั้งสิ้น 9,908 คน มีพันธกิจมุ่งพัฒนาสถานบริการและการบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐาน มีความสวยงามและปลอดภัย เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการเกิดความพึงพอใจ ส่งเสริมศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชนแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน พร้อมทั้งเน้นการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง NCDs และนำนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการทำงาน