การกู้ฟื้นคืนชีพ (CPR)

การกู้ฟื้นคืนชีพ (CPR)

จากภาวะความเจ็บป่วยและโรคประจำตัวในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรทั่วโลก ส่งผลให้เกิดภาวะผู้ป่วยหมดสติหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากขึ้น โดยสิ่งที่มีความสำคัญเร่งด่วนในการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือที่เรียกว่า “การปั๊มหัวใจ” ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และปฏิบัติถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นจากภาวะฉุกเฉินต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ไฟฟ้าช็อต จมน้ำ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก ผู้ป่วยจะมีการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง ซึ่งส่ผลให้มีภาวะสมองตายได้ เพียงขาดออกซิเจน 4 นาทีการช่วยชีวิตอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต มีหัวใจกลับมาเต้นดังเดิม  หรือยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปยังทีมแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญในการกู้ชีพ คือ เครื่องกระตุกหัวใจ ที่เรียกว่าเครื่อง Automated external defibrillator (AED) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ว่ามีความจำเป็นต้องช๊อตไฟฟ้าผู้ป่วยหรือไม่ โดยเครื่องทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย และพร้อมทำการช๊อตไฟฟ้าเมื่อพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดผิดปกติของผู้ป่วย ซึ่งเครื่องมือนี้ ถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


ขั้นตอนการช่วยชีวิต

  1. เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ให้ตรวจสอบดูความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายแก่ผู้ช่วยเหลือ เช่น บริเวณไฟฟ้า หรือ ไฟฟ้าช๊อตจากสายไฟรั่ว เป็นต้น
  2. ปลุกเรียกผู้ป่วย โดยตบบริเวณไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดัง หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
  3. เรียกขอความช่วยเหลือ โดยขอความช่วยเหลือต่อบุคคลบริเวณนั้นเพื่อหาเครื่อง AED ร่วมกับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ขอทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์เครื่องกระตุกหัวใจ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ สภาวะของผู้ป่วย และเบอร์โทรติดต่อกลับ
  4. คลำชีพจรบริเวณลำคอของผู้ป่วย พร้อมตรวจดูการหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ และผู้ป่วยไม่หายใจ ให้เริ่มทำการ CPR ทันที โดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายบริเวณผิวที่แข็งและปลอดภัย
  5. เริ่มช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
  6. หากมีเครื่อง AED ให้รีบทำการติดเครื่องมือแก่ผู้ป่วยทันที
  7. ติดแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
  8. ปฏิบัติตามเครื่อง AED แนะนำ หากเครื่องสั่งให้ช็อตไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อต และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อตทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อตให้ทำการกดหน้าอกต่อไป
  9. กดหน้าอกต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED
  10. รอทีมแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ มาเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือการทำ CPR คือ การกดหน้าอกอย่างถูกวิธี และการสามารถนำเครื่อง AED มาใช้ประเมินและช๊อตไฟฟ้าผู้ป่วยอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด นอกจากนั้น เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น


นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปะศาสตร์

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด