โรคกรดไหลย้อน กับการรักษาด้วยยา

รู้หรือไม่ว่า…โรคหลายโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั้น  ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง  และโรคหนึ่งในนั้นก็คือ โรคกรดไหลย้อน”  ซึ่งในปัจจุบันมีคนพูดถึงโรคนี้บ่อยมากขึ้น  เนื่องจากเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวมาก  และพบได้ในคนทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ

สาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อนนั้น จากหลายทฤษฎีได้ให้ข้อมูลว่าโรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติบริเวณบริเวณหูรูดกระเพาะอาหาร   ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร  แม้ว่าโดยปกติบริเวณดังกล่าวจะมีการคลายตัวเป็นครั้งคราว   แต่พบว่าผู้ป่วยกรดไหลย้อนจะมีการคลายตัวของหูรูดกระเพาะอาหารที่มากกว่าปกติ  ซึ่งอันนี้เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นกลไกหลักในการเกิดโรคกรดไหลย้อน  นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่สนับสนุนการเกิดโรคกรดไหลย้อน เช่น ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ, เกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร, มีความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร ซึ่งสุดท้ายจะทำให้มีการไหลย้อนของสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก โดยอาจจะเป็นกรด ด่าง หรือแก๊ส ย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนหรือมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่แย่ลงต่อผู้ป่วย   

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน

ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคกรดไหลย้อน  ได้แก่ 

  • พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยความเสียงจะเพิ่มมาก ได้แก่ การมีภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ที่ดื่มสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือการรับประทานอาหารมื้อดึกก่อนช่วงเวลาเข้านอน
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุนบางชนิด
  • ปัจจัยทางกายภาพ เช่น สตรีที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคผิวหนังแข็ง ผู้ป่วยผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงที่มีอิริยาบถในท่านอนเป็นส่วนใหญ่
  • ปัจจัยทางจิตใจ ได้แก่ ความเครียด โรคทางจิตเวชบางชนิด

อาการของผู้ป่วยกรดไหลย้อน

            อาการของผู้ป่วยกรดไหลย้อนแบ่งอาการเป็นอาการในหลอดอาหารและอาการนอกหลอดอาหาร

  • อาการในหลอดอาหาร เช่น   ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนกลางอก  มีอาการเรอเปรี้ยว รู้สึกขมปากขมคอเหมือนมีน้ำกรดเปรี้ยวๆ ไหลออกมาในคอ หรือกลุ่มที่มีการสืบค้นพบว่ามีการอักเสบหรือการได้รับบาดเจ็บในหลอดอาหารแล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งมีอาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอกซึ่งเป็นอาการคล้ายโรคหัวใจ  เป็นต้น     
  • อาการนอกหลอดอาหาร  เป็นกลุ่มที่ผู้ป่วยจะมีอาการนอกหลอดอาหารเป็นหลัก พบได้ไม่บ่อยเท่ากับกลุ่มอาการทางหลอดอาหาร ซึ่งจะให้การวินิจฉัยที่ซับซ้อนกว่าโดยที่จะต้องไม่พบสาเหตุจากการสืบค้นเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านนั้น ๆ เช่น  ผู้ป่วยที่มีฟันกร่อนสึก  ไอหรือเจ็บคอเรื้อรัง  เสียงแหบ กล่องเสียงอักเสบ หอบหืด  ผู้ป่วยบางคนอาจมีพังผืดในปอดได้ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนทำได้อย่างไร  

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์   แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย     แพทย์จะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนโดยใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก     หากผู้ป่วยมีอาการที่เข้ากับโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ อาการแสบร้อนกลางอก  เรอเปรี้ยว  และมีอาการเกิดขึ้นบ่อยคือ ใน 1 อาทิตย์มีอาการเกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือ/และมีความรู้สึกว่ารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน  แพทย์จะให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเข้าได้กับโรคกรดไหลย้อนได้และสามารถเริ่มการรักษาได้เลย   

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน  แพทย์จะให้ยาและติดตามอาการประมาณ 4-8 สัปดาห์   จากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาดูอาการเพิ่มเติมอีกครั้ง   หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจะได้รับการปรับยาให้อย่างเหมาะสม    หากผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นหรือมีสัญญาณเตือนอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น คลื่นไส้อาเจียนมากผิดปกติ กลืนติด กลืนเจ็บ กลืนลำบาก น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ  มีภาวะซีด   แพทย์ต้องมีตรวจเพื่อสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อไป เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการรักษาถูกต้องและติดตามอาการได้อย่างเหมาะสม

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน

สิ่งสำคัญของการรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนคือ ประกอบด้วย  การใช้ยา กับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต  หากผู้ป่วยที่สามารถควบคุมปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองได้ ลดความเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น  ก็จะทำให้การใช้ยาลดน้อยลงไปด้วย 

การรักษาด้วยยา    ยาที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อนมียาหลัก ๆ ดังนี้

  • ยาลดกรดกลุ่ม  Proton pump Inhibitor หรือ PPIs ทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร  ได้แก่ esomeprazole, lansoprazole, omeprazole, pantoprazole และ  rabeprazole   ซึ่งถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ยังมียาลดกรดกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีในการลดกรดในกลุ่มที่มีหลอดอาหารอักเสบ เช่น กลุ่ม Potassium competitive acid blocker (PCAB) ได้แก่ Vonoprazan อีกด้วย
  • ยาเคลือบผิวกระเพาะอาหารในรูปแบบเจลและน้ำ โดยกลไกอาจจะการสร้างชั้นเจลลอยเหนือบนของเหลวในกระเพาะอาหารป้องกันเพื่อลดการระคายเคืองต่อหลอดอาหาร หรือช่วยลดการระคายเคืองจากการภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร เช่น alginate, antacid
  • ยากลุ่มกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetics) เพิ่มการบีบรัดเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารทำให้อาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วขึ้น  เช่น Mosapride, Itopride, metoclopramide , domperidone เป็นต้น  สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้บ้าง
  • ในกลุ่มที่ดื้อต่อการรักษาที่ได้รับการสืบค้นเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม อาจจะมีการใช้ยาเพื่อปรับสมดุลต่อการรับรู้อาการในทางเดินอาหาร เช่น ในกลุ่มที่โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน โดยที่ไม่มีรอยโรคในทางเดินอาหาร แต่จะเป็นผิดปกติของโรคกรดไหลย้อนที่สามารถเกิดขึ้นต่อการตอบสนองหรือการรับรู้ของหลอดอาหารที่ไวกว่าปกติ  ในกลุ่ม centrally acting pain modulator เช่น tricyclic antidepressant เป็นต้น โดยยานี้จะช่วยปรับการรับรู้ของอาการกับภาวะกรดในทางเดินอาหารให้สมดุลมากขึ้น  ทำให้ผู้ป่วยมีอาการลดลง  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

              การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต  แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของตนเองด้วย  เช่น   ผู้ป่วยไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อให้อาหารย่อยและเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารก่อน, หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด  อาหารรสจัดหรืออาหารที่กระตุ้นอาการ, หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ในผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานควรแนะนำให้ลดน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ จะสามารถช่วยลดอาการของกรดไหลย้อนได้

นอกจากนี้หากผู้ป่วยรักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นร่วมกับมีอาการหลอดอาหารอักเสบรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นแล้ว  การผ่าตัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษา  แต่ทั้งนี้ประสิทธิภาพของการรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการผ่าตัด การรักษาไม่ได้ผลดีมาก มีราคาสูง มีข้อมูลบางส่วนพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด  มีโอกาสกลับมาเป็นโรคกรดไหลย้อนซ้ำได้

ข้อแนะนำในการใช้ยารักษาโรคกรดไหลย้อนได้อย่างเหมาะสม   

              เนื่องจากยาลดกรดที่ใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อนมีอยู่ในท้องตลาดทั่วไป เป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม   คือเมื่อทานยาอาการดีขึ้นไม่ยอมหยุดทานยา  เนื่องจากกังวลว่าจะมีอาการกลับมาอีก  ทำให้มีใช้ยาในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการโดยเกินความจำเป็น  ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการดีขึ้นหรือได้รับการสืบค้นที่เหมาะสมแล้วนั้น การรับประทานยาที่เหมาะสมควรทานยาตามอาการ   นั่นคือเมื่อมีอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นแล้วค่อยทานยาและติดตามดูอาการอีกครั้ง เมื่ออาการหายหรือทุเลาแล้วหยุดยา   เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลออกมามากขึ้นเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม  นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาพบว่า  การปรับยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย  ถือได้ว่าเป็นการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น  และลดความเสี่ยงของการใช้ยาโดยไม่จำเป็น  ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง

โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจและกระวนกระวายใจ  เป็นโรคที่สามารถคุมอาการของโรคได้   ลองสังเกตพฤติกรรมของตนเองและระวังเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ  เรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม  หากมีอาการโรคกรดไหลย้อนควรไปพบแพทย์  เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วยเอง

โรคกรดไหลย้อนอาจดูไม่ใช่โรคร้ายแรง   แต่ว่าหากปล่อยไว้ไม่รักษาก็อาจพัฒนามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ข้อมูลทางประเทศตะวันตกพบว่ามีแนวโน้มต่อความเสี่ยงกลายเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็งได้เช่นเดียวกัน   ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตัวเอง  หากมีอาการกรดไหลย้อน  ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ การรักษา และรับคำแนะนำในการปฏิบัติดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมต่อไป