โรคกระดูกพรุน Osteoporosis

โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกมีมวลลดลง ส่งผลให้กระดูกมีความเปราะ บางมากขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายมากขึ้น

โรคกระดูกพรุนพบมากในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังหมดประจำเดือนนั่นเอง

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อย มีปริมาณของผู้ป่วยมาก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากไม่มีอาการของโรคที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากภาวะกระดูกพรุน พบว่าสูงกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจหรือว่าโรคมะเร็ง เสียอีก

อาการของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการบ่งบอกชัดเจน ดังนั้นคนที่เป็นอาจจะไม่ทราบได้เลยว่าตัวเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่ ซึ่งกว่าจะแสดงอาการให้เห็น คือ มีภาวะกระดูกหักง่ายจากภาวะกระดูกพรุน ในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ลื่นล้ม ซึ่งบริเวณของกระดูกหักที่พบบ่อย จะเป็นกระดูกบริเวณสะโพก ข้อมือ หรือกระดูกสันหลัง โดยกระดูกหักเหล่านี้มีความสำคัญ อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถที่จะเดินได้อีก เป็นต้น

วิธีการป้องกันและรักษา

วัตถุประสงค์หลักของการรักษาโรคกระดูกพรุน คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกหักซึ่งจะนำมาซึ่งความทุพลภาพหลายๆอย่างตามมา ทำให้ลดการพึ่งพาบุคคลอื่นๆในบั้นปลายของชีวิต

วิธีการป้องกัน

  1. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เช่น การเดิน วิ่งเบาๆ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอ เหมาะสมกับวัย
  3. ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ เช่น แดดอ่อนๆในตอนเช้า
  4. มีวิธีการป้องกันการหกล้มให้กับผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุงภายในบ้าน

ยาที่ใช้ในการรักษากระดูกพรุน

ยาที่ใช้รักษาเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกของผู้ป่วยบางมากขึ้น มีหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของการรับประทาน หรือว่าในรูปยาฉีด ขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน

บทความจาก นายแพทย์รัฐภูมิ สุวรรณรัตน์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ สาขาอุบัติเหตุและกระดูกหัก

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์