รู้จักและรับมือกับโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus: DM) เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการนำน้ำตาลในเลือดไปเปลี่ยนเป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนขึ้น

อาการของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ บางรายอาจตรวจพบเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ซึ่งอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการชา โดยเฉพาะมือและขา แผลหายยาก เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยภาวะวิกฤติจากน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว


สาเหตุของโรคเบาหวาน

– เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)

– ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน

– เกิดจากกรรมพันธุ์หรือแบบโมโนเจนิก (Monogenic Diabetes)

– เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยา หรือเกิดจากโรคชนิดอื่น และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

การรักษาโรคเบาหวาน

– กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลิน เข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม

– กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลินหากเป็นในระยะแรก ๆ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน

– กรณีเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามกับอายุรแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน                                                                                                                           

– ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล เป็นต้น หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้น แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น ซึ่งหากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลาม

บทความสุขภาพโดย

                                                                                               พญ.ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม คลินิกอายุรกรรมต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

                                                                                         พญ.บทม์มัย เดชะเทศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม คลินิกอายุรกรรมต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม