มะเร็งปากมดลูก ป้องกันง่ายกว่ารักษา

สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเรียกว่า “HPV” หรือเชื้อ Human Papillomavirus ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่พบว่ามีประมาณ 14 สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็งปากมดลูก โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนารอยโรคมะเร็งก่อนมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 35 เท่า

การติดเชื้อ HPV ที่พบบ่อย คือ การสัมผัสทางผิวหนัง เพราะฉะนั้นเพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อ HPV บริเวณปากมดลูก และอวัยเพศส่วนอื่นๆ รวมทั้งทวารหนัก อย่างไรก็ตามการติดเชื้อ HPV อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นเรื่องธรรมดาสามัญซึ่ง 80% ของผู้หญิงเราเคยมีเชื้อหรือกำลังมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าร่างกายแข็งแรงเชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าร่างอ่อนแอการติดเชื้ออาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

มะเร็งปากมดลูก มีตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง ระยะลุกลาม ถ้าตรวจพบก่อนในระยะก่อนมะเร็ง สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องตัดมดลูก แต่ถ้าเป็นมะเร็งไปแล้ว ก็จะแบ่งเป็น 4 ระยะเหมือนมะเร็งอื่นๆ คือ

ระยะที่ 1  จะอยู่ในปากมดลูก 

ระยะที่ 2  เริ่มกระจายไปด้านข้าง 

ระยะที่ 3 กระจายในเชิงกราน 

ระยะที่ 4  จะแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ปอด ซึ่งกรณีนี้จะรักษาไม่หาย

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

  1. ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั่วโลก โดยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV  สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเหมาะสมที่สุดในการป้องกัน ถ้าได้รับวัคซีนตั้งแต่ในช่วงอายุนี้ ต่อไปเมื่อเติบโตขึ้นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะได้มีภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมแล้ว คำแนะนำในการรับวัคซีน แนะนำให้ฉีดในช่วง 9 – 26 ปี โดยช่วงอายุ 9-15 ปี ฉีด 2 เข็ม และอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6 อย่างไรก็ตาม หากเลยช่วงอายุดังกล่าวก็สามารถฉีดได้จนถึงช่วงอายุ 45 ปี หรือเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำในการรับวัคซีน
  2. ตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี โดยแนะนำตรวจให้ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป และควรตรวจเซลล์ปากมดลูกร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือในกลุ่มผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เนื่องจากการติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจ HPV ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง 14 สายพันธุ์ และระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงสูงในการพัฒนารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก การตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตได้ในที่สุด